นายภัชริ นิจสิริภัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท นอร์ทเทิร์น รีนิวเอเบิ้ล เอนเนอร์จี้ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเชื้อเพลิงจากชีวมวล ได้แก่ ถ่านอัดแท่ง (Briquette Char-Coal) เชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด (Wood Pellet) และไม้สับ (Wood Chip) เพื่อใช้เป็นพลังงานเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยนำวัสดุธรรมชาติกลับมาใช้ใหม่เป็นพลังงานที่มีคุณภาพ ลดการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติ ลดการใช้พลังงานที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และช่วยลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจ และเงินตราต่างประเทศในการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ เปิดเผยว่า ล่าสุด ได้รับความไว้วางใจจาก บริษัท แอดวานซ์ เพาเวอร์คอนเวนชั่น จำกัด (APCON) ผู้นำทางด้านการออกแบบการก่อสร้างโรงไฟฟ้าและติดตั้งระบบไฟฟ้าจากชีวมวล และบริหารจัดการระบบโรงงานอุตสาหกรรม ด้วยการเซ็นสัญญาจัดหาพลังงานเชื้อเพลิงชีวมวล เพื่อนำไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้า ทับสะแก รวมมูลค่ากว่า 15,000 ล้านบาท ภายหลังจาก APCON ระดมทุนเข้าซื้อหุ้นโรงไฟฟ้าทับสะแก และที่อื่น ๆ พร้อมเตรียมเดินเครื่องการผลิตทันทีในต้นปี 60 เพื่อรองรับความต้องการที่เติบโตอย่างต่อเนื่องของทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ
ทั้งนี้ นอร์ทเทิร์นฯ ยังมี มีนโยบายหลักในการเป็นผู้นำในการผลิตพลังงานจากชีวมวลและบริหารจัดการพลังงานทางเลือก เพื่อช่วยลดการใช้พลังงานที่มีสารพิษและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกทั้งยังช่วยลดการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศสูญเสียเงินตราจากการนำเข้าเชื้อเพลิง โดยคาดว่าในปีนี้ บริษัทวางแผนที่จะขยายตลาดในประเทศให้เพิ่มมากขึ้น อาทิ ในส่วนของ Modern Trade/ Department Store โดยปัจจุบันสินค้าในกลุ่มถ่านอัดแท่งปลอดสารพิษ (Briquette Char-Coal) เข้าไปวางจำหน่ายที่ Foodland ,Villa Market และ Tops Supermarket ตลอดจนจัดส่งให้กลุ่มร้านอาหารชั้นนำ ประเภทปิ้ง ย่าง ทั้งไทย เกาหลี และญี่ปุ่น ทั่วประเทศไทย และในปี 2560 จะมุ่งขยายตลาดไปสู่กลุ่มอาเซียน และ ทั่วโลก ปัจจุบันกำลังผลิตกว่า 200 ตันต่อเดือน และพร้อมขยายกำลังผลิต เพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาดในอนาคต
โดยในส่วนของ บริษัท แอดวานซ์ เพาเวอร์ คอนเวอร์ชั่น จำกัด (APCON) ผู้เชี่ยวชาญด้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้า และบริหารจัดการการผลิตพลังงานไฟฟ้า รวมทั้งมีเทคโนโลยีทางด้าน ระบบควบคุมและระบบสื่อสาร ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตไฟฟ้าทุกรูปแบบนั้น นายสุธีร์ ฉุยฉาย กรรมการผู้จัดการ ได้เปิดเผยถึงการดีลทั้งในส่วนการเข้าซื้อ ควบรวมกิจการ กับกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมของโรงผลิตกระแสไฟฟ้าทับสะแก และการเตรียมจัดซื้อพลังเชื้อเพลิงชีวมวลระยะยาวว่า “ปัจจุบันความต้องการพลังงานสะอาดมีการเติบโตที่ก้าวกระโดด โดยเฉพาะในกลุ่มยุโรปและญี่ปุ่น ซึ่งให้การสนับสนุนให้ภาคเอกชนลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยรัฐบาลจะรับซื้อในอัตราพิเศษ เช่น โครงการ Feed-in-Tariff (FIT) ดังนั้นจึงสามารถสรุปได้ว่า อุตสาหกรรมก่อสร้าง ออกแบบ ติดตั้ง โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในประเทศไทยกำลังเข้าสู่ยุคของการเจริญเติบโต เช่นเดียวกับอดีตในประเทศยุโรปและญี่ปุ่นซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตต่าง ๆ ลดลงอย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการตอบสนองนโยบายรัฐบาลในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้อย่างคุ้มค่า จากหลายหน่วยงานของภาครัฐที่ได้ส่งเสริมแนวคิดนำวัสดุเหลือใช้มาพัฒนาให้เป็นเศรษฐกิจที่เกิดมูลค่ามากขึ้น ที่ผ่านมาบริษัทมีความมุ่งมั่นอย่างยิ่งที่ต้องการจะส่งเสริมการผลิตพลังงานจากชีวมวลเพื่อช่วยลดการใช้พลังงานที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และช่วยลดการสูญเสียเงินตราของประเทศไทยในการนำเข้าเชื้อเพลิง เพราะปัจจุบันความต้องการใช้ไฟฟ้าของคนในประเทศอยู่ที่วันละ 25,000 – 28,000 เมกะวัตต์ และอนาคตภายใน 3-5 ปี จะปรับขึ้นไปถึงวันละ 30,000 เมกะวัตต์ เนื่องจากอุตสาหกรรมและเมืองขยายตัว ประชากรเพิ่มจำนวนมากขึ้น รวมถึงการเปิดประตูการค้าเสรี ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ที่ล้วนมีผลต่อการขยายฐานตลาดในอนาคต
ปัจจุบัน ประเทศไทยผลิตไฟฟ้าใช้เองได้ครึ่งเดียว แบ่งเป็น 70 % ผลิตมาจากก๊าซธรรมชาติที่ต้องซื้อและนำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนอีก 30% ผลิตจากถ่านหิน และน้ำในเขื่อน เช่น เขื่อนภูมิพล เป็นเขื่อนที่ใหญ่สุดของประเทศไทย ผลิตได้ 600-700 เมกะวัตต์ ขณะที่อีกครึ่งหนึ่งเป็นการนำเข้าด้วยการซื้อไฟฟ้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน และปัจจุบันก็ไม่สามารถสร้างเขื่อนได้อีกแล้ว เพราะไม่สามารถบุกรุกล้ำป่าไม้ได้ ถึงบุกได้ก็ต้องถามความคิดเห็นของประชาชน โอกาสสร้างเขื่อนในประเทศถึงมีน้อยจะไปพึ่งถ่านหินก็ยาก เพราะคนยังมีความรู้สึกไม่ดีกับถ่านหิน” นายสุธีร์ กล่าวและเพิ่มเติมว่า
“ล่าสุด แอพคอน ได้ขยายไลน์ธุรกิจด้วยการเข้าซื้อหุ้นโรงไฟฟ้าทับสะแก มูลค่าตามสัญญา 500 ล้านบาท เนื่องจากมองว่าโรงไฟฟ้าดังกล่าวมีศักยภาพ และได้เปลี่ยนชีวมวลไฟฟ้าเป็น FIT อีกทั้งเครื่องจักรถือว่ายังมีคุณภาพดี แต่ผู้ประกอบการเดิมขาดกำลังความสามารถ ทำให้การผลิตเกิดความล่าช้า และหยุดชะงัก ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ บริษัทฯจึงมองว่าสามารถฟื้นฟู และทำธุรกิจดังกล่าวให้เติบโตต่อไปได้ จึงได้เข้าซื้อกิจการดังกล่าวและบริหารจัดการต่อได้ทันที ซึ่ง ปัจจุบัน โรงไฟฟ้าทับสะแก มีกำลังผลิตประมาณ 9.7 เมกะวัตต์ แต่ขายให้การไฟฟ้าที่ 8 เมกะวัตต์ ที่เหลือเป็นการเก็บใช้เองของโรงไฟฟ้า คาดว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้นในส่วนนี้ จะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 35-40 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม คาดว่ารายได้จากโรงผลิตกระแสไฟฟ้า น่าจะมีผลต่อรายได้รวมปีหน้าของบริษัทฯ เนื่องจากขณะนี้ต้องใช้ระยะเวลาในการปรับปรุงโรงไฟฟ้าก่อนเริ่มผลิต ซึ่งยังไม่เป็นรายได้หลัก เนื่องจากรายได้หลักของ APCON คือ ธุรกิจออกแบบโรงไฟฟ้า แต่โรงผลิตกระแสไฟฟ้า เป็นรายได้แบบยั่งยืนที่เห็นผลในระยะยาว เพราะมองว่าในอนาคตงานก่อสร้างนั้นมีเป็นระยะๆ เท่านั้น ดังนั้นจากการที่มีความรู้ในเรื่องเทคนิคอยู่แล้วจึงได้ต่อยอดธุรกิจด้วยการเข้าซื้อโรงไฟฟ้าดังกล่าว โดยมั่นใจว่ารายได้ของ APCON ปีนี้ ไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท และจะมีอัตราการเติบโตเพิ่มมากขึ้นอีก 5-6 เท่าตัวในปี 2560
“เรารู้เรื่องเทคนิค มีความสามารถที่จะต่อยอดธุรกิจได้อยู่แล้ว ทำไมเราจะมีโรงไฟฟ้าทำเองไม่ได้ จึงมีแผนกระจายความเสี่ยงด้วยการเข้าเทคโอเวอร์โรงไฟฟ้าทับสะแก ซึ่งจะทำให้มีรายได้จากโรงไฟฟ้ามาเลี้ยงบริษัทได้ในระยะยาว ซึ่งเราไม่ได้มองแค่ว่าเป็นโรงไฟฟ้า แต่ถือเป็นธุรกิจต้นน้ำ ซึ่งสามารถพัฒนาปลายน้ำ ให้เติมเต็มความต้องการอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะสามารถพัฒนาได้ในปี 60 เรียกได้ว่า ว่าโรงไฟฟ้าโรงแรกที่ APCON เข้าไปลงทุน” นายสุธีร์ กล่าวสรุป
สำหรับความร่วมมือกับ NRE ในครั้งนี้ ถือเป็นการเซ็นสัญญาระยะยาวรวมประมาณ 20 ปี โดยแบ่งเป็น 2 เฟส เฟสละ 10 ปี เนื่องจากที่ผ่านมา บริษัทฯได้รับการบริการที่มีศักยภาพมาให้อย่างต่อเนื่อง ในการจัดหาและซื้อเชื้อเพลิง อัดแท่งที่มีทั้ง ถ่านอัดแท่ง ( Briquette Charcoal) ไม้อัดแท่ง (Wood Pellet ) ไม้สับ ( Wood Chip) รวมมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 15,000 ล้านบาท เนื่องจากมองว่า NRE มีศักยภาพ มีความชำนาญในการจัดหา ซื้อเชื้อเพลิงหลากหลายรูปแบบ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับบริษัทฯมาก เพราะต้องการซัพพลายเออร์ (supplier) ที่มีความแข็งแกร่งในการจัดการซื้อเชื้อเพลิงเข้ามา ประกอบกับการจัดซื้อในระยะยาว จะช่วยให้การจัดหาเชื้อเพลิงมาใช้ในการผลิตเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ได้ในราคาที่สมเหตุสมผล รวมไปถึงการจัดส่ง ซึ่ง NRE มีโรงงานผลิตอยู่ในพื้นที่ที่ซื้อเชื้อเพลิงอยู่แล้ว ที่ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ในขณะที่ APCON ไม่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าวเลย อีกทั้งในเร็ว ๆนี้ NRE ยังมีแผนที่จะเปิดโรงงานเพิ่มขึ้นที่ จ.สุราษฏร์ธานี ด้วยอีก 1 แห่ง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น